ลงทะเบียน/เข้าสู่ระบบ
ข่าวจาก facebook
30 เมษายน วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย
30 เมษายน 2566
สิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้ . 1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่ จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม . 2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความ สมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม . 3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว . 4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ . 5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว ทั้งนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ได้บัญญัติ สิทธิผู้บริโภคสากล ขั้นพื้นฐานไว้ 8 ประการ ดังนี้ 1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อันได้แก่ อาหารปลอดภัย ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการการศึกษาและสาธารณสุข 2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีผลิต และบริการที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต 3. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการหลอกลวงของโฆษณา หรือการแจ้งประกาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ 4. สิทธิที่จะได้เลือกซื้อสินค้าและบริการในราคายุติธรรม ในราคาที่เกิดการแข่งขันกัน และในกรณีที่มีการผูกขาดสินค้าก็จะวางใจได้ว่า จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจ และในราคายุติธรรม 5. สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการ 6. สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่ถูกละเมิด หลอกลวงให้ได้รับสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ กล่าวคือสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินเรื่องราวที่ร้องเรียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เมื่อได้รับสินค้าและบริการที่บกพร่องหรือเสียหายหรือการช่วยเหลือหรือการชดใช้อื่น ๆ 7. สิทธิที่จะได้รับความรู้และไหวพริบอันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน เป็นสิทธิที่จะได้รับความรู้ที่ควรรู้ ควรมี ในการที่จะใช้ในการต่อสู้สิ่งต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค 8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย . นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคไทยยังคงเผชิญกับปัญหาผู้บริโภคที่ซับซ้อนและหลากหลายตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้น จึงใช้ทั้งมาตรการเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมถึง การฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค เพราะ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามกฎหมายได้ ถึงแม้ มีความรู้และประสบการณ์มายาวนาน เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในงาน แต่การจะทำให้งานคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วม . การให้ความสำคัญกับงานการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม เพราะความสำเร็จที่ผ่านมาไม่อาจบอกได้ว่าเป็นเราคนเดียวที่ทำสำเร็จ แต่เป็นพลังภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนทางสังคมต่างหาก ที่เป็นพลังมวลรวมและเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ช่วยเสริมจุดอ่อนภาครัฐ สร้างความเข้าใจในเจตนาของการเสนอแนะแนวทางการบริหารราชการที่ดีต่อภาครัฐ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ โดยเฉพาะการเป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียง ให้ผู้บริโภคก่อนถูกละเมิดสิทธิ การถูกเอารัดเอาเปรียบ “เพราะสิทธิผู้บริโภค คือ สิทธิพลเมือง” และ “พลังผู้บริโภค คือ พลังพลเมือง” . อ่านประกอบ”ผู้บริโภคยังถูกละเมิดจากการซื้อสินค้าและบริการ” https://ffcthailand.org/news/worldconsumerrightsday